ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้เมื่อพูดถึงเมียนมา
หลายคนย่อมนึกถึงความสดใหม่ของตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการค้าและการลงทุนในหลากหลายสาขา
โดยเฉพาะหลังจากที่สถานการณ์การเมืองในเมียนมาเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลเร่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศด้วยการปรับปรุงนโยบายทางเศรษฐกิจและสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง
ๆ ให้เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ในระยะ 5 ปี
สิทธิ์ในการเช่าซื้อที่ดินได้สูงสุดถึง 50 ปี และการจดทะเบียนลงทุนได้เต็มจำนวน 100%
ในหลายสาขาธุรกิจ ทำให้เมียนมาในวันนี้
กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดต่อนักลงทุนกระเป๋าหนักจากทั้งในและนอกภูมิภาค
โดยอีกหนึ่งสาขาที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากที่สุดในขณะนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น
“ธุรกิจการก่อสร้าง”
ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ธุรกิจก่อสร้างในเมียนมาเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ในประเทศอื่นมาจากการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจในประเทศ
ซึ่งปีนี้คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ ๗.๘
และนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ในเมียนมา
ธุรกิจก่อสร้างถือเป็นภาคบริการ (service sector) ที่นักลงทุนต่างชาติสามารถจดทะเบียนลงทุนได้ 100% จากสถิติพบว่า
ธุรกิจในสาขานี้มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีในช่วงระหว่างปี 2553-2557 อยู่ที่
7.4% และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 6% ระหว่างปี 2558-2562
โดยจะมีมูลค่าราว 765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนในธุรกิจก่อสร้างในเมียนมาแบ่งออกเป็น 2 โครงการหลัก ได้แก่
โครงการการลงทุนการก่อสร้างของภาครัฐ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การติดตั้งระบบไฟฟ้าและประปา รวมทั้งการขุดเจาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ และโครงการการลงทุนก่อสร้างของภาคเอกชน
อาทิ การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโรงแรม
เพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
สำหรับขั้นตอนการลงทุนนั้น
นักลงทุนจะต้องขอใบอนุญาตการลงทุนจากคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (Myanmar
Investment Commission หรือ MIC) และต้องจัดทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
(Environmental Impact Assessment: EIA) ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ
เพราะรัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น
ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปปักธงลงทุนในธุรกิจก่อสร้างในเมียนมา 2
อันดับแรก คือ ไทย และจีน
โดยโครงการที่นักลงทุนไทยรับผิดชอบและให้ความสนใจส่วนมากเป็นการก่อสร้างที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
เพราะบุคลากร ผู้รับเหมา และแรงงานไทยมีทักษะด้านภาษา
มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงาน อีกทั้งยังมีฝีมือประณีต
เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติอย่างกว้างขวาง
นับเป็นใบเบิกทางสำคัญสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจตลาดธุรกิจก่อสร้างในเมียนมา
นอกเหนือจากธุรกิจก่อสร้างแล้ว ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
ธุรกิจนำเข้าวัสดุก่อสร้าง ยังได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เพราะวัสดุก่อสร้างในเมียนมายังหายากและไม่ได้มาตรฐาน
ในขณะที่วัสดุก่อสร้างของไทยมีคุณภาพมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ เหล็ก
และวัสดุสำเร็จรูปอื่น ๆ
จริงอยู่ว่าตอนนี้ตลาดเมียนมากำลังเปิดกว้างสำหรับนักลงทุน
แต่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ที่สนใจไปบุกตลาดธุรกิจก่อสร้างในเมียนมา
ก็ไม่ควรผลีผลามเข้าไปโดยไม่ศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อน
เพราะยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนอีกหลายข้อที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบ
และมาตรฐานการก่อสร้างที่แตกต่างกันในแต่ละเมือง และที่สำคัญ
อย่าลืมสร้างพันธมิตรทางการค้าการลงทุน
ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจในพื้นที่ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น