วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เมืองย่างกุ้ง



ย่างกุ้ง


ย่างกุ้ง หรือ ยานโกน (พม่า: ရန်ကုန်, MLCTS rankun mrui, ออกเสียง: [ɴɡòʊɴ mjo̰] ยานโกน มโย; "อวสานสงคราม") หรือ ร่างกุ้ง (อังกฤษ: Rangoon) เป็นเมืองหลวงของเขตย่างกุ้ง ย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงของพม่าจนถึงปี พ.ศ. 2549 เมื่อรัฐบาลทหารย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองเนปยีดอในภาคกลางของประเทศพม่า ย่างกุ้งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมีประชากรกว่า 7 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดของพม่า
ย่างกุ้งมีจำนวนอาคารยุคอาณานิคมมากที่สุดในภูมิภาคนี้ และเป็นเมืองในยุคอาณานิคมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เศรษฐกิจยุคอาณานิคมมีศูนย์กลางบริเวณรอบเจดีย์สุเลซึ่งขึ้นชื่อว่าเก่าแก่กว่า 2,000 ปี เมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพม่า ย่างกุ้งยังเป็นที่ตั้งสุสานของจักรพรรดิโมกุลองค์สุดท้าย ซึ่งถูกอังกฤษเนรเทศมายังย่างกุ้งหลังการจลาจลของอินเดียในปี ค.ศ. 1857
ย่างกุ้งมีโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะมีการปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์เก่าแก่หลายแห่งในใจกลางเมืองย่างกุ้งแต่มุมมองจากดาวเทียมบริเวณโดยรอบส่วนใหญ่ของเมือง ยังมีความยากจนและขาดโครงสร้างขั้นพื้นฐาน


ที่มาของชื่อ


ย่างกุ้ง (ရန်ကုန်) เป็นคำผสมที่เกิดจากคำว่า ยาน yan (ရန်) ซึ่งมีความหมายว่า ศัตรู ข้าศึก และคำว่า โกน koun (ကုန်) ซึ่งมีความหมายว่า หมดไป ซึ่งสามารถแปลได้อีกอย่างว่า อวสานสงครามหรือสิ้นสุดสงคราม
ส่วนคำว่าย่างกุ้งในภาษาอังกฤษ Rangoon มีที่มาจากการเลียนเสียงของคำว่า ยานโกน Yangon ในภาษาอาระกัน ซึ่งออกเสียงว่า รอนกู้น [rɔ̀ɴɡʊ́ɴ] ขณะที่ในภาษาไทยยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการเลียนเสียงจากภาษาใดกันแน่


ประวัติศาสตร์


ประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรก
ย่างกุ้งก่อตั้งขึ้นในชื่อ ดากอง (Dagon - ภาษามอญเรียกว่า "ตะเกิง") ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 (พ.ศ. 1571-1586) โดยชาวมอญซึ่งครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคใต้ของพม่าในขณะนั้น ดากอนเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ซึ่งมีศูนย์กลางคือเจดีย์ชเวดากอง ในพ.ศ. 2298 พระเจ้าอลองพญา ได้บุกยึดดากอง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ย่างกุ้ง (Yangon) และมีการตั้งถิ่นฐานของราษฎรที่เพิ่มขึ้นตลอดมา เมื่อถึงพ.ศ. 2367 กองทัพอังกฤษสามารถยึดเมืองย่างกุ้งได้ในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรก แต่หลังจากสงคราม อังกฤษก็คืนย่างกุ้งให้แก่พม่า ในพ.ศ. 2384 เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ในเมืองซึ่งทำลายเมืองไปเกือบทั้งหมด

ย่างกุ้งในยุคอาณานิคม
อังกฤษยึดย่างกุ้งและส่วนล่างของพม่าทั้งหมดได้ในระหว่างสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2395 และได้เปลี่ยนย่างกุ้งให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเมืองของพม่าของอังกฤษ (British Burma) และยังเป็นสถานที่ซึ่งอังกฤษส่งตัวจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โมกุลของอินเดียมาจองจำหลังจากเกิดเหตุการณ์กบฎอินเดีย หรือกบฎซีปอยขึ้นเมื่อปี 2400 อังกฤษได้สร้างเมืองย่างกุ้งใหม่โดยวางผังเมืองเป็นรูปตารางบนที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ โดยมีร้อยโทอเล็กซานเดอร์ เฟรเซอร์ นายทหารช่างเป็นผู้ควบคุมการออกแบบ มีพื้นที่ทอดยาวไปทางทิศตะวันออกจรดแม่น้ำพะซุนดวง (Pazundaung Creek) ทิศตะวันตกและทิศใต้จรดแม่น้ำย่างกุ้ง
ย่างกุ้งกลายเป็นเมืองหลวงพม่าของอังกฤษหลังจากที่อังกฤษยึดพม่าตอนบนได้ในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 3 เมื่อปี 2428 และตั้งแต่ทศวรรษที่ 1890 เป็นต้นมา ประชากรและการค้าในย่างกุ้งเติบโตขึ้นอย่างรุ่งเรืองซึ่งเป็นผลให้เมืองขยายออกไปทางเหนือจรด รอยัล เลค หรือทะเลสาบ กันดอจี (Kandawgyi) และทะเลสาบอินยา (Inya Lake) นอกจากนี้อังกฤษยังได้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น หนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลย่างกุ้ง (Rangoon General Hospital) และวิทยาลัย ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (Rangoon University) ในปัจจุบัน
ย่างกุ้งในยุคอาณานิคม มีสวนสาธารณะและทะเลสาบที่กว้างขวาง อีกทั้งยังประกอบไปด้วยอาคารที่ทันสมัยและสถาปัตยกรรมไม้แบบดั้งเดิม ทำให้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "สวนเมืองแห่งทิศตะวันออก" (the garden city of the East) และในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ย่างกุ้งก็มีการบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่เทียบเท่าลอนดอนเลยทีเดียว
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ประชากรเกินครึ่งของ 5 แสนคนในย่างกุ้งเป็นชาวอินเดียหรือไม่ก็ชาวเอเชียใต้อื่นๆ มีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นชาวพม่า ขณะที่เหลือประกอบไปด้วยชาวกะเหรี่ยง พม่าเชื้อสายจีน และลูกครึ่งอังกฤษ-พม่า
หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งย่างกุ้งกลายเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชโดยมีนักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นแกนนำ มีการประท้วงต่อจักรวรรดิอังกฤษทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 2463, 2479 และ 2481 ทั้งหมดเกิดขึ้นในย่างกุ้ง ย่างกุ้งตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น (2485-2488) และเมืองได้รับความเสียหายอย่างมากจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ยึดคืนมาได้หลังสงครามสิ้นสุดลงโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ในเดือนพฤษภาคม 2488 ย่างกุ้งกลายเป็นเมืองหลวงของสหภาพพม่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 เมื่อประเทศได้รับเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ

ย่างกุ้งในสมัยปัจจุบัน
ไม่นานหลังจากการได้รับเอกราชของพม่าเมื่อปี 2491 ชื่อหลายชื่อของถนนและสวนสาธารณะที่เป็นแบบอาณานิคมถูกเปลี่ยนให้มีความเป็นชาตินิยมพม่ามากขึ้น ในปี 2532 รัฐบาลทหารพม่าได้เปลี่ยนชื่อเมืองในภาษาอังกฤษเป็น Yangon (เดิม Rangoon) พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ อีกมากมายในการทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยชื่อพม่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวพม่าจำนวนมากซึ่งคิดว่ารัฐบาลทหารไม่มีความเหมาะสมที่จะทำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่นเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์ สำนักข่าวหลายสำนัก รวมไปถึงสื่อที่มีชื่อเสียงอย่าง บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ(สำนักข่าวบีบีซี) สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ
นับตั้งแต่ได้รับเอกราชย่างกุ้งมีการขยายตัวออกไปมาก รัฐบาลได้สร้างเมืองขึ้นมาโดยรอบ เช่นในทศวรรษที่ 1950 สร้างย่านธาเกตา (Thaketa) ออกกะลาปาเหนือ (North Okkalapa) ออกกะลาปาใต้ (South Okkalapa) จนถึงทศวรรษที่ 1980 เกิดย่าน แลงธายะ (Hlaingthaya) ชเวปยีธา (Shwepyitha) และดากอนใต้ (South Dagon) ทำให้ทุกวันนี้มหานครย่างกุ้งครอบคลุมพื้นที่เกือบ 600 ตารางกิโลเมตร (230 ตารางไมล์)
ในช่วงการปกครองแบบลัทธิโดดเดี่ยวโดยนายพลเน วิน (2505-2531) โครงสร้างพื้นฐานของย่างกุ้งเสื่อมโทรมมากเนื่องจากไม่ได้รับการบำรุงรักษาที่ดีและไม่รองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ช่วงทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลทหารมีนโยบายเปิดตลาดมากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศซึ่งช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองมีความทันสมัยขึ้นตามสมควร ผู้อยู่อาศัยในเมืองชั้นในถูกขับให้ไปอยู่ยังบริเวณรอบนอกเมืองใหม่ อาคารหลายอาคารในยุคอาณานิคมถูกทำลายเพื่อเปิดทางให้กับโรงแรมสูงระฟ้า อาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น