วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ข่าวเศรษฐกิจ เมืองเมียนมาร์






กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์
กลุ่มธุรกิจที่อีกไม่เกิน 3 ปี 5 ปี ที่เมียนมาจะต้องเป็นแดนสวรรค์ของเขา คือธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก หรือตามศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่า Labor Incentives Business เพราะผลพวงจากค่าแรงขั้นต่ำที่เรากระโดดแบบไม่ลืมหูลืมตาจากร้อยกว่าบาท กระโดดขึ้นมา 300 บาททั่วประเทศ ผลที่ตามมามีทั้งทางบวกและทางลบ ทางลบก่อนนะครับ จะทำให้ความได้เปรียบทางต้นทุนเราหมดไป เพราะค่าแรงเราขึ้นไปเกือบเท่าตัว ค่าแรงนี้ยังส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นอีกด้วย แม้จะไม่ได้เฟ้อจนเกินเลยขอบเขต แต่สินค้าในท้องตลาดก็ขายได้ลดจำนวนลง ตามกฎของอุปสงค์และอุปทาน นอกจากนี้ รายได้จากแรงงานคนชั้นล่างขึ้น แต่ก็ตามไม่ทันกับค่าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนตาดำๆ ก็รับผลกระทบไป มีแต่คนรวยหรือคนชั้นสูงที่ไม่อินังขังขอบมากนัก คนที่ได้รับผลกระทบหนักมากจริงๆ คือคนกินเงินเดือน พนักงานจากเมื่อก่อนนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เขาบ่นกันอุบเลยครับ เพราะค่ารถเมล์ก็ขึ้นราคา ค่ารถวินมอเตอร์ไซค์ก็ขึ้นราคา ทำให้ต้องใช้เงินค่าเดินทางต่อวันร่วมสี่ห้าสิบบาท จากเดิม 20 กว่าบาท ช่วงนั้นผมต้องจัดรถไปรับพนักงานหน้าปากซอยทุกวัน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายพนักงาน และอีกประการหนึ่งคือรายได้ประชาชาติของไทยเราก็ขึ้นมาเช่นกัน สินค้าขึ้นราคาตามมาครับ
ผลในทางบวกก็มีเหมือนกัน คือส่งผลให้ GDP ช่วงนั้นขึ้นมาก ราคาค่าบ้านและที่ดินกระโดดขึ้นพรวด รายได้ของบางกลุ่มบางพวกก็เพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว แน่นอนครับเกิดเศรษฐีใหม่อีกมากมาย แต่ก็ส่งผลไปยังการแข่งขันด้านสินค้าส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะราคาเราแพงขึ้นนั่นเอง อย่าลืมว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียว คู่แข่งเราที่มีอุตสาหกรรมด้านการใช้แรงงานมาผลิตสินค้านั้นมีอยู่เยอะมากโดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ที่ยังมีค่าแรงขั้นต่ำถูกมาก
ที่จริงต้องหันมาดูตัวเราเอง ด้วยการเปลี่ยนจากเดิมมาใช้ระบบอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “Capital Incentives Business” และพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา แล้วอัพเกรดสินค้าเราให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อจะได้นำเอาเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานได้ไงละครับ
ทีนี้มาดูประเทศเมียนมาที่เขาเพิ่งจะเปิดประเทศใหม่ๆ ค่าแรงเขาถูกกว่าเรามาก ปัจจุบันนี้มีการประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ถึงร้อยบาท แต่หลายๆ บริษัทยังไม่สนใจที่จะใช้ตามรัฐบาลประกาศ ยังใช้ระบบพระคุณอยู่ คือมีที่พักให้ มีอาหารเลี้ยง ดูแลเหมือนสมาชิกคนในบ้าน รับลูกหลานมาเลี้ยงดู ให้ลูกหลานตัวเล็กๆ ทำงาน เพื่อจะได้มีรายได้ด้วย เป็นต้น นี่เหมือนไทยเมื่อห้าหกสิบปีก่อนเลย ท่านลองคิดดูว่าถ้าเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานสักพันคน เช่น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานอาหารทะเล โรงงานทอผ้าพื้นเมือง โรงงานเครื่องประดับ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ค่าแรงต่อคนที่ต่างกัน 200 กว่าบาท พันคนจะต่างกัน 2 แสนกว่าบาท ปีหนึ่งประหยัดไป 2 ล้านกว่าบาท 10 ปีก็ 20 กว่าล้านบาท สรุปหนีไปอยู่ที่นั่นแน่นอนครับ ไม่ต้องคิดทำการสำรวจให้เสียเวลาเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น