โดย ... มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
(NLD)
ชนะเลือกตั้งใน ค.ศ.2015 อองซานซูจีกลายเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State
Counsellor) ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง
แม้รัฐธรรมนูญจะทำให้เธอเป็นประธานาธิบดีไม่ได้เพราะมีสามีต่างชาติและทหารยังคงคุมเชิงอยู่เบื้องหลัง
21 สิงหาคม 2018 รัฐบาลสิงคโปร์และ ISEAS
– Yusof Ishak Institute เชิญเธอมาแสดงปาฐกถาในงาน The 43rd Singapore Lecture หัวข้อ
“การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยเมียนมา : ความท้าทายและหนทางข้างหน้า” ด้วยสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับเมียนมามากเนื่องจากเข้าไปลงทุนในเมียนมามหาศาล
ในปี 2017 การลงทุนต่างชาติในพม่ามูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มากกว่าครึ่งมาจากสิงคโปร์
ในงาน
ซูจีแสดงความเห็นว่าเมียนมาเปลี่ยนผ่านมา 3 ครั้งตั้งแต่ยุคอาณานิคม เผด็จการทหาร
จนถึงปัจจุบันที่มีรัฐบาลพลเรือน
แต่ก็ยอมรับว่าครั้งที่ซับซ้อนและท้าทายที่สุดคือยุคปัจจุบัน
สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรจะให้การเปลี่ยนผ่านดำเนินไปอย่างสันติและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน
ซูจีบอกว่าเมียนมามีเป้าหมาย 5 ข้อ บนพื้นฐาน
3 เสา ได้แก่ 1)สันติภาพ การปรองดองแห่งชาติ การรักษาความปลอดภัยและการบริหารที่ดี
2) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการบริหารเศรษฐกิจมหภาคให้เข้มแข็ง 3)
การสร้างงานและส่งเสริมการเติบโตของภาคเอกชน 4)
พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมในศตวรรษที่ 21 และ 5)
อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความมั่งคั่งของประเทศ และยอมรับว่าปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าคือ
ปัญหา (เธอไม่กล่าวว่า “โรฮิงญา”) รัฐยะไข่
รองลงมาคือการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment)
ภาพอองซาน ซูจี ที่เจดีย์สุเล นครย่างกุ้ง
เป้าที่ 1 และ 2
เป็นเรื่องหลักที่ซูจีเน้นย้ำแม้จะมีเสียงวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง
เธอกล่าวถึงแนวโน้มที่ดีในการประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21
เพื่อปรองดองกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
รวมไปถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ซึ่งอองซานซูจีเรียกชาวโรฮิงญาว่า “คนพลัดถิ่น (displaced
persons)” ที่หนีไปบังคลาเทศกว่า 700,000 คน เธอให้เครดิตนายโคฟี
อันนัน
อดีตเลขาธิการสหประชาชาติผู้ล่วงลับที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมาว่าได้ให้แนวทางสร้างสันติภาพไว้
88 ประการ และมีการดำเนินการแล้ว 81 ข้อ
ปัจจุบันทางการยังตั้งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาในรัฐยะไข่
โดยใช้ต้นแบบกระบวนการที่ร่วมมือกับไทยเรื่องการจัดการแรงงานพลัดถิ่น
มีการทำบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลบังคลาเทศเพื่อส่งกลับโดยจะมีการจัดสรรพื้นที่รองรับ
ซูจียังให้ความสำคัญกับการลงทุนจากประเทศใน
อาเซียนและเอเชียตะวันออกด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาในคุณภาพชีวิตประชาชน
เธอแถลงว่ารัฐบาลพม่าดำเนินการแก้ไขเรื่องโครงสร้างพื้นทั้งถนนและไฟฟ้ามาแล้ว 2 ปี
เน้นที่รัฐชินและยะไข่ทางด้านตะวันตกของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการศึกษาที่ดีขึ้นแต่ยังต้องเร่งดำเนินการ
สิ่งหนึ่งที่ซูจีถูกตั้งข้อสังเกตว่าทำไม่ได้คือ
การแสดงมาตรการระยะยาว ไม่ว่ากรณีโรฮิงญา
การปรองกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอุปสรรคมากมาย
ไม่นับว่าทหารพม่ายังไม่ได้ออกไปจากการเมืองแต่อย่างใด
ภาพ: สุเจน กรรพฤทธิ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น